วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร 5 องค์กรจัดประชุมแถลงกลไกและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ และการลงนามข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย โดยการประชุมผ่านระบบ Zoom Orientation Meeting

โดยส่วนของพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย คณะแรกเป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาติดตั้ง และบริหารโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ Lucky Pole และเทคโนโลยี Smart City ในพื้นที่โครงการเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลตำบลกะรน เทศบาลเมืองกะทู้ บริษัท เค.ดับบลิว. พลาซ่า จำกัด บริษัท เค.ดับบลิว. กะตะ เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโยลี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ตามแนวทางภูเก็ตเมืองสุขภาพ 1.ระหว่างเทศบาลตำบลกะรน บริษัท เค.ดับบลิว. พลาซ่า จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโยลี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด 2.ระหว่างเทศบาลเมืองกะทู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ 3. ระหว่างเทศบาลเมืองป่าตอง บริษัท เค.ดับบลิว. พลาซ่า จำกัด บริษัท เค.ดับบลิว. กะตะ เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโยลี เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด

คณะ 2 เป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย ระหว่าง 6 หน่วยงาน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมโรงแรมที่พักอันดามันและอ่าวไทย สมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย และสมาคมการผังเมืองไทย โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นสักขีพยาน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยริวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวระหว่างเปิดการประชุมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินนโยบายและมาตรการพัฒนาระบบเวลเนสมาโดยตลอด ตามนโยบายการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางการบริการส่งเสริมสุขภาพของรัฐบาล และตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 กรมฯ เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพหรือเวลเนสมีศักยภาพระดับสูงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สามารถคงสภาพการจ้างงาน เพิ่มการจ้างงานใหม่ และกระจายรายได้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันอ่าวไทย สมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย และคณะกรรมการกฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19 เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากโรงแรมเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพหรือโรงแรมเวลเนส นอกจากนั้น ยังได้เตรียมการยกร่างมาตรฐานระบบเวลเนสเพิ่มเติม เพื่อเป็นเกณฑ์การปฏิบัติสำหรับโรงแรมเวลเนสและกิจการเวลเนสในประเทศ ซึ่งสนับสนุนการเสริมสร้างคุณภาพการบริการ สร้างความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์และความโดดเด่นในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหน่วยงานภาคีเครือข่าย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกฎบัตรไทย ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19 ในปี 2564 ได้ฝึกอบรมโรงแรมเวลเนสในพื้นที่อันดามันและอ่าวไทยไปแล้ว 120 โรง โดยปีต่อไปจะฝึกอบรมเพื่อยกระดับสมรรถนะโรงแรมเวลเนสเพิ่มเติมอีก 200 โรง ซึ่งมหาวิทยาลัยคาดหวังให้โรงแรมกลุ่มเป้าหมายมีสมรรถนะและศักยภาพสูงสุดในการให้การบริการที่เป็นเลิศ สามารถใช้งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมีอยู่พัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างในตลาดเวลเนส นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนให้นักวิจัยและคณาจารย์ในสาขาการแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล และเทคโนโลยีการอาหารร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำแก่โรงแรมและกิจการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสูงสุด

นายสมพงศ์ ดาวพิเศษ นายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของกฎบัตรไทยและตามความต้องการของโรงแรมและกิจการเวลเนสในพื้นที่อันดามันและอ่าวไทยที่เข้าฝึกอบรมรุ่น 1 หลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร เพื่อเป็นตัวแทนผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเวลเนสทั่วทั้งระบบ การแก้ไขข้อกฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ เบื้องต้น สมาคมฯ และกฎบัตรไทยประสบผลสำเร็จในการสร้างแพคเกจด้านการเงินร่วมกับธนาคารกรุงไทยเพื่อเป็นสินเชื่อในการปรับปรุงฟื้นฟูโรงแรมให้เป็นโรงแรมเวลเนส พร้อมการสนับสนุนวงเงินหมุนเวียน คาดว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคาร สมาคมฯ และกฎบัตรไทยจะได้แถลงรายละเอียดต่อสาธารณะ

สำหรับประเด็นการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูโรงแรมเวลเนสที่เป็นสมาชิกของสมาคมนั้น เบื้องต้น สมาคมฯ จะสนับสนุนการใช้ระบบ prepaid หรือการชำระเงินล่วงหน้ากับ wholesale หรือตัวแทน (DMC) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการหลายรายได้ขายห้องพักล่วงหน้า โดยอาจกำหนดปริมาณห้องเป็นระยะเวลาหกเดือนหรือหนึ่งปี โดยมีส่วนลดตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งเรื่องนี้ สมาคมฯ จะประสานในรายละเอียดต่อไป ประเด็นต่อมา กรณีที่สมาชิกมีความประสงค์จะใช้วงเงิน สมาคมฯ จะขอให้สมาชิกเตรียมเอกสารและรายละเอียด asset value เพื่อนำไปขอเพิ่มวงเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ โดยอาจมีการเปรียบเทียบมูลค่าทรัพย์สินมูลค่าปัจจุบันกับวงเงินที่ขอกู้ โดยอาจจะค้ำประกันเพิ่มเติมวงเงินในรูปแบบของตั๋วสัญญาใช้เงินหรือโอเวอร์ดร๊าฟ หรืออาจจะทำสัญญาขาย voucher ล่วงหน้ากับเอเย่นต์ทัวร์ โดยมีอัตราส่วนลดตามที่ได้ตกลงกัน

สำหรับประเด็นด้านการตลาด สมาคมฯ ได้วางแผนร่วมกับกฎบัตรไทยพัฒนาเวลเนสแพคเกจซึ่งคาดว่า ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะสามารถนำนักท่องเที่ยวสุขภาพประเภทผู้สูงอายุเข้ามายังพื้นที่อันดามันและอ่าวไทยได้ สำหรับนักท่องเที่ยวสุขภาพนานาชาติ ปัจจุบันทีมงาน B-Healthy อยู่ระหว่างประสานเครือข่ายสุขภาพในต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถนำนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้าไทยได้ในช่วงไตรมาสสองปี 2565

ด้านนายนิติธร เทพบุตร อุปนายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทยและประธานกรรมการสุโข เวลเนส แอนด์ สปารีสอร์ต กล่าวว่า สมาคมฯ มีวาระเร่งด่วนในการทำตลาดท่องเที่ยวสุขภาพสนับสนุนกิจการโรงแรมและกิจการเวลเนสในช่วงการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยสมาคมฯ ให้ความสำคัญในการเพิ่มอัตราการพำนักและเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งสมาคมฯ จะใช้จุดแข็งของการแพทย์ตะวันออกหรือ oriental medicine ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกประเภทต่างๆ โดยในช่วงการระบาดของโควิดจะให้ความสำคัญ

สำหรับตลาดในประเทศ เน้นการจัดแพคเกจการส่งเสริมดูแลสุขภาพ (preventive medicine) หรือเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณการในการรักษาพยาบาล และแพคเกจเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยจากโควิดหรือ long COVID สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสมาคมฯ จะร่วมกับ B-Healthy ทำตลาดเข้มข้นในปี 2565 ในกลุ่ม long COVID และการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นอกจากนั้น จะทำตลาดพิเศษสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติ เป็นกลุ่มที่มีรายได้และให้มูลค่าการท่องเที่ยวในอัตราสูง โดยใช้ความแข็งแกร่งของ oriental medicine เป็นกลไกการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด สมาคมฯ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ การกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแพคเกจร่วมกันระหว่างหน่วยงานและธุรกิจประกันภัยเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงบริการเวลเนสได้ง่ายขึ้น พร้อมการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ การผลักดันให้เกิดการวิจัยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการวิจัยและการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19 กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎบัตรไทยและศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดจัดประชุมแสดงแผนธุรกิจเวลเนสของ 120 โรงแรมที่เข้าฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ รุ่น 1 ในระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2564 ณ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งในงานนี้ กฎบัตรจะเชิญผู้แทนธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงไทย ให้พิจารณาแผนธุรกิจและลงนามข้อตกลงเบื้องต้นสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูกิจการและสินเชื่อเพื่อการหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในช่วงการระบาดของโควิด จากที่ประมาณการเบื้องต้น ทราบว่า จะมีความต้องการสินเชื่อเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทยประมาณ 2,000 ล้านบาท หากมีการปรับปรุงโรงแรมตามแผนแล้ว ในปี 2565 กลุ่มโรงแรมดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการหมุนเวียนเศรษฐกิจในกลุ่มการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเวลเนสที่ผลิตจากกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก