(5 สิงหาคม 2564) นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผมอ่านบทความที่เขียนถึงสถานการณ์โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่เขียนโดย นพ. สงวน คุณาพร แล้วอดที่จะดีใจแทนชาวภูเก็ตไม่ได้ ภูเก็ตแซนด์บ็อกมีแนวโน้มว่าจะคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี หลังจากคนภูเก็ตที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนใกล้จะครบ 70%
จำนวนคนไข้โควิด19 ตอนนี้แม้จะเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่คนป่วยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนไข้สีเขียว และ เหลือง มีส่วนน้อยมากที่เป็นสีแดง ยังไม่สร้างปัญหากับระบบบริการของโรงพยาบาลในภูเก็ตแบบช่วงเดือนเมษายน ต่อ พฤษภาคม ตอนที่กำลังเริ่มระดมฉีดวัคซีนใหม่ ๆ
ทำให้ผมคิดถึงข่าวที่ดังไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนพฤษภาที่ผ่านมาว่า เมืองเซร์รานา (Serrana) รัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล ที่มีประชากร 45,600 คน และประชากรผู้ใหญ่ 95% ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค2เข็ม เช่นเดียวกับภูเก็ต ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ
ผมอยากจะเห็นภูเก็ตได้พัฒนาไปให้ใกล้เคียงเมืองเซร์รานาให้มากที่สุด เพื่อชาวภูเก็ต และที่สำคัญกว่า คือ เพื่อเป็นต้นแบบของการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ของประเทศไทยในภาวะโควิด-19 ระบาด
ความแตกต่างระหว่าง เมืองเซร์รานากับภูเก็ตคือ เขาฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ได้ถึง 95% เพื่อทดสอบว่ายิ่งฉีดได้ครอบคลุมมากจะยิ่งดีไหม อีกข้อที่แตกต่างคือเมืองเซร์รานา ไม่ได้เป็นเกาะเหมือนภูเก็ต เขาต้องการให้คนจากเมืองใกล้เคียงมาเที่ยว มาช็อป ที่เมืองเขาได้
ผมได้โทรไปคุยกับคุณหมอสงวน ทราบว่า ขั้นตอนอื่น ๆ ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำอยู่ ค่อนข้างจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ทราบว่ามีชาวภูเก็ตอีก 50,000 คน ที่ยังลังเลไม่ไปฉีดวัคซีน
ผมอยากเห็นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จมาก จึงอยากขอร้องชาวภูเก็ตที่ยังลังเลที่จะไปฉีดวัคซีน ให้รีบไปฉีด เพราะหากมีการติดเชื้อในประชากรภูเก็ตที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะทำให้ตัวเลขคนติดเชื้อของจังหวัดเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการโปรโมทภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจาก ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้ในการตัดสินใจว่าเขาจะมาเที่ยวภูเก็ตดีหรือไม่ คือ จำนวนคนไข้โควิด-19 รายใหม่ของจังหวัด
อย่าลืมนะครับ ถ้าภูเก็ตทำสำเร็จ จังหวัดอื่นจะได้นำบทเรียนไปปรับใช้ ในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจะได้เรียกนักท่องเที่ยวให้กลับมาเยือน เพื่อเศรษฐกิจของพื้นที่ และของประเทศไทย