วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

สทนช.เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต

02 พ.ย. 2021
475

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ จังหวัดภูเก็ต นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปฐมนิเทศ) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดขึ้น เพื่อนำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์โครงการฯ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นมา วัตถุประสงค์ของโครงการฯ และปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

จังหวัดภูเก็ตได้เสนอโครงการเพื่อพัฒนา ปี 2563-2565 ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมติที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบในหลักการโครงการจัดการน้ำตันทุนและแผนปฏิบัติการ ปี 2563-2565 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการเพิ่มเติมประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ โดยเพิ่มปริมาตร 1.5 ล้าน ลบ.ม. ทำให้อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำมีปริมาตรการเก็บกับน้ำจากเดิม 7.20 ล้าน ลบ.ม. เป็น 8.70 ล้าน ลบ.ม.

2) โครงการระบบสูบผันน้ำ บ้านโคกโตนด-อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ โดยดำเนินการนำน้ำจากลุ่มน้ำ

คลองถลางที่บ้านโคกโตนด ประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไหลลงทะเลอันดามัน ฝันมาลงอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ทำให้มีน้ำต้นเพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

3) โครงการบำบัดน้ำเสียมาผลิตน้ำประปา ดำเนินการโดยเทศบาลนครภูเก็ต ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น0.584 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

และ กนช. ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับจังหวัดภูเก็ตศึกษาและจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติมให้มีผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน สะท้อนเป้าหมาย ตัวชี้วัด ครอบคลุมตามแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2) กรสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5) การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และ 6) การบริหารจัดการ

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภูเก็ตบรรลุผลมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ และเป็นไปตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงได้ศึกษาโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต เพื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปัญหาในเชิงลึก กำหนดทิศทางการพัฒนาด้านทรัพยากรของจังหวัดภูเก็ต จัดทำแผนหลักอย่างบูรณาการ (Integrated Master Plan) และแนวทางจัดการน้ำอย่างบูรณาการโดยมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลและแผนการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดและขจัดการทับซ้อนของการทำงาน และการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา จะนำไปสู่การบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และทิศทางการพัฒนาของพื้นที่อย่างเหมาะสม