ประเพณีพ้อต่อ ประเพณีของชาวภูเก็ตที่สืบสานต่อมายาวนาน นับ 100 ปี ทั้งตำนานความลี้ลับของโลกหลังความตาย และเรื่องราวความรัก ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้ว แต่ลูกหลานยังไม่ลืมเลือน จากตำนานเล่าขานสืบต่อ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ตามปฎิทินจันทรคติจีน ถือเป็นวันเริ่มต้นของประเพณีพ้อต่อ เชื่อว่าประตูผีจะเปิดออกเพื่อปลดปล่อยให้เหล่าดวงวิญญาณกลับมาเยี่ยมญาติ ลูกหลาน และท่องเที่ยวในโลกมนุษย์ตลอดเดือน 7 และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ถือเป็นวันสารทจีน ก็จะมีการตั้งเครื่องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพชนของแต่ละบ้าน ตลอดจนผีไร้ญาติ ส่วนการจัดงานพ้อต่อตามชุมชนและสมาคมต่างๆ ในปีนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในประเพณีพ้อต่อ คือ ขนมเต่าแดง ตั่วกู๊ (大龜) ที่ทำจากแป้งสาลีหมักน้ำเชื่อม ปั้นเป็นรูปเต่าและทาด้วยสีแดง บนตัวเต่าจะเขียนคำมงคล เช่น โชคดี ร่ำรวย มั่งมีศรีสุข โดยขนมเต่าแดงจะถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีตั้งไหว้
[ความเชื่อประเพณีพ้อต่อ] ในเวลาพลบค่ำ ช่วงประเพณีพ้อต่อ ห้ามออกจากบ้านเพราะอาจถูกผีทักทายและต้อนกลับเมืองผี และเจ็บป่วยได้ ปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป บางคนเลิกงานค่ำหรือมีกิจธุระอื่นๆ ที่ต้องทำในช่วงเวลากลางคืน ไม่อาจเลี่ยงได้ ดังนั้นข้อห้ามตามความเชื่อดังกล่าว จึงกลายเป็นเพียงคำบอกเล่าขานมาตั้งแต่ในอดีตเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูล คุณอัศวิน อรรถธรรม ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลตลาดใหญ่
สนับสนุนท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรมภูเก็ตโดย #อบจภูเก็ตดูแลประชาชน