“ภูเก็ต“ ยกเสาโกเต้ง สัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นประเพณีถือศีลกินผัก อัญเชิญตะเกียงเทวดาทั้ง 9 ขึ้นสู่ยอดเสาโกเต้ง “พิธียกเสาโกเต้ง” หรือเสาเต็งโก เพี้ยนเสียงมาจากคำภาษาจีนว่า 燈篙(เติงเกา) แปลตรงตัวว่า โคมไฟสูง
เสาโกเต้ง หมายถึง ราวไม้ไผ่แขวนตะเกียง 9 ดวง โดยจะแขวนตะเกียงไว้ที่ปลายเสา เป็นสัญลักษณ์แห่งดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สถิตไว้ตลอดประเพณีถือศีลกินผัก
เสาโกเต้ง จะใช้ต้นไผ่ที่ปลายยอดไม่หัก ความสูงไม่น้อยกว่า 36 ข้อปล้อง สื่อความหมายถึง 36 ชั้นฟ้า มีความเชื่อว่าจะเป็นทางสื่อที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนจะลงมายังโลกมนุษย์ พิธียกเสาโกเต้ง และอัญเชิญตะเกียงเทวดา 9 ดวง ขึ้นสู่ยอดเสาโกเต้ง ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ประเพณีถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการ โดยพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นในเย็นวันแรกก่อนเริ่มประเพณีถือศีลกินผัก ที่บริเวณลานพิธีกรรมของแต่ละศาลเจ้า
สำหรับ จ.ภูเก็ต มีศาลเจ้ากว่า 40 แห่งที่เข้าร่วมประเพณีถือศีลกินผัก และได้ทยอยประกอบพิธียกเสาโกเต้ง สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นประเพณีถือศีลกินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 ต.ค. 2567 โดยการเข้าร่วมพิธียกเสาโกเต้ง ในงานประเพณีถือศีลกินผักนั้น ชาวภูเก็ตเชื่อว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว และมีความเชื่อว่าผู้ที่ได้เข้ามาร่วมในพิธีจะเป็นผู้ร่วมพิธีถือศีลกินผักอย่างสมบูรณ์ตลอดทั้ง 9 วัน
สำหรับงานประเพณีถือศีลกินผัก (เจี้ยะฉ่าย) จ.ภูเก็ต เป็นประเพณีอันดีงามที่ได้ยึดถือกันมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี โดยยึดหลักความเชื่อและประเพณีดั้งเดิม มุ่งหมายให้ตั้งมั่นปฏิบัติจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ และในช่วง 9 วัน แต่ละศาลเจ้าจะมีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ อาทิ โขกุ้น เป็นพิธีการเลี้ยงทหาร, พิธีอัญเชิญลำเต้า-ปักเต้า หรือ เทวดาผู้กำหนดเวลาเกิดเวลาตาย, พิธีอาบน้ำมัน ขึ้นบันไดมีด พิธีลุยไฟ พิธีสะเดาะเคราะห์ และพิธีแห่พระรอบเมือง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป
สนับสนุนท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรมภูเก็ต โดย อบจ.จังหวัดภูเก็ต
#อบจภูเก็ตดูแลประชาชน