วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ทีมวิจัย ม.อ.ภูเก็ต ลงพื้นที่ทดสอบคุณภาพน้ำคลองปากบาง ด้วยชุดทดสอบ ที่พัฒนาขึ้นมาในการแก้ปัญหาน้ำเสีย

18 ก.พ. 2021
260


เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้(17 ก.พ.) คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตจัดกิจกรรม “การประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำสำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” ณ หาดป่าตอง บริเวณทางออกคลองปากบาง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตหยุดชะงักไป ธรรมชาติจึงได้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการฟื้นตัวเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ สถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลของจังหวัดจะกลับเข้าสู่สถานการณ์แบบเดิมหากไม่ได้วางแผนการจัดการให้เหมาะสม ทางคณะฯ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “การประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำ สำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” เพื่อประยุกต์ใช้องค์ความรู้ดังกล่าวสำหรับทดสอบธาตุอาหาร (ฟอสฟอรัสและไนโตรเจน) ในน้ำเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมด้วยช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต รูปแบบกิจกรรม วันนี้ เป็นการล่องเรือเพื่อไปดูสภาพคลองปากบางว่า มีชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่นอย่างไร มีจุดไหนบ้างที่จะต้องมีการทดสอบคุณภาพของน้ำ ตั้งแต่ต้นทางคลอง จนถึงปากทางของคลอง

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นมา เป็นความพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของป่าตอง เนื่องจากป่าตองเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปัญหาของป่าตองที่เป็นมาในอดีตก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริเวณคลองปากบาง ซึ่งเป็นแหล่งระบายน้ำเสียจากสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว ชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ และจากนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ

สำหรับความพยามของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมแก้ไขปัญหา คือการให้องค์ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับปริมาณน้ำเสียหรือปริมาณฟอสเฟต ไนเตรท ที่อยู่ในคลองว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ทางคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนาชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และในไตรท์ในน้ำขึ้น ซึ่งเป็นชุดทดสอบที่มีการวิจัยเผยแพร่ยืนยันแล้วว่าเป็นชุดทดสอบที่มีคุณภาพดี ใช้งานง่าย ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ราคาก็ไม่แพง สามารถที่จะเอาไปทดสอบเพื่อช่วยกันดูแลรักษาคุณภาพของน้ำในคลองปากบาง ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางของมลภาวะในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในการให้องค์ความรู้ดังกล่าวกับชุมชน ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองป่าตองในการอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน นำชุดทดสอบเหล่านี้ให้ชาวบ้านนำไปใช้เพื่อเป็นมอนิเตอร์และติดตามคุณภาพของน้ำในคลองปากบาง